การศึกษาดูงานของชมรมคู่สมรสข้าราชการกระทรวงการต่างประเทศประจำปี 2559 ณ ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์กรมหาชน) อ.บางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา

การศึกษาดูงานของชมรมคู่สมรสข้าราชการกระทรวงการต่างประเทศประจำปี 2559 ณ ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์กรมหาชน) อ.บางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา

วันที่นำเข้าข้อมูล 28 มิ.ย. 2559

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 10 ต.ค. 2565

| 6,399 view

        เมื่อวันจันทร์ที่ 30 พฤษภาคม 2559 ชมรมคู่สมรสข้าราชการกระทรวงการต่างประเทศ ได้แก่ 1) นางผกาแก้ว ชินวรรโณ ภริยาปลัดกระทรวงฯ/ประธานชมรมคู่สมรสฯ 2) นางมกรา อนะมาน ภริยาที่ปรึกษา รมว.กต. 2) นางศิริวรรณ โปร่งธุระ 3) นางสุทธิราภรณ์ สรสิริ และ 4) นางนวีนรา อติแพทย์ พร้อมด้วย 5) น.ส. สรียา หินทอง นักการทูตชำนาญการ ได้เดินทางไปยังหอสุพรรณ-พัสตร์ อาคารพระมิ่งมงคล ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์การมหาชน) อ.บางไทร จ. พระนครศรีอยุธยา เพื่อเข้ารับฟังการบรรยาย หัวข้อ “ศิลปะเครื่องทองโบราณ” โดย นายนิพนธ์ ยอดคำปัน ครูช่างศิลปหัตถกรรม ปี 2555/ช่างทองหลวง และ “ผ้าทอพื้นถิ่น” โดยนายมีชัย แต้สุจริยา   ทายาทช่างศิลปหัตถกรรม ปี 2556 ผู้คิดค้นสร้างสรรค์ผ้ากาบบัว ผ้าทออันเป็นสัญลักษณ์ของ จ. อุบลราชธานี สรุปสาระสำคัญ ดังนี้

  1. การบรรยายเรื่อง “ศิลปะเครื่องทองโบราณ”

        เครื่องประดับทองคำเป็นมรดกทางฝีมืออันทรงคุณค่าที่อยู่คู่กับคนไทยมาอย่างยาวนาน และแม้ปัจจุบันการซื้อทองคำจะไม่ใช่เรื่องของความสวยงามเป็นหลัก แต่ความละเอียดลออของช่างทองชาวไทยก็ยัง ถูกฝังใจไว้ว่าเป็นความงามระดับโลก อ.นิพนธ์ฯ ช่างทองหลวงประจำสำนักพระราชวังจึงได้พัฒนาชิ้นงานทองคำผสมผสานระหว่างการออกแบบสมัยใหม่และลวดลายทองคำโบราณเข้าไว้ด้วยกัน เพื่อสืบสานเอกลักษณ์ความเป็นไทย และสามารถสวมใส่ได้ในชีวิตประจำวัน

        อ. นิพนธ์ฯ กล่าวถึงตำนานและคุณค่าของเครื่องประดับทองของไทยว่า ศิลปะการสร้างสรรค์ทอง   ที่อลังการของประเทศไทยเริ่มจากการทำถวายแด่พระมหากษัตริย์ที่เชื่อว่าเป็นสมมุติเทพเมื่อสมัยโบราณกาล ในสมัยต่อมาพระมหากษัตริย์สวมใส่ทองเพื่อเป็นเสริมสร้างภาพลักษณ์ของประเทศ เป็นการเผยแพร่ให้นานาชาติประจักษ์ว่าประเทศไทยเป็นประเทศที่มีมรดกทางศิลปวัฒนธรรมอันยาวนาน ภูมิหลังทางประวัติศาสตร์นี้คือสิ่งที่ช่างทองทุกคน ระลึกถึงมากกว่าเรื่องมูลค่าเสมอเวลาสร้างงาน ฝีมือของช่างทองไทยเป็นการสืบทอดมาจากต้นตระกูลสู่ลูกหลาน ไม่สามารถถ่ายทอดไปให้ใครได้เนื่องจากขั้นตอนการสร้างงานถูกรักษาไว้เป็นความลับ จึงไม่มีเครื่องทองที่ไหนสวย และมีเอกลักษณ์เหมือนประเทศไทย ปัจจุบันข้าราชการตำแหน่งช่างทองหลวงมีอยู่ประมาณ 20 คน และมีกลุ่มช่างทองท้องถิ่นอยู่ตามภูมิภาคต่างๆ โดยแต่ละที่ก็มีเอกลักษณ์ไม่เหมือนกัน เช่นทางเพชรบุรีที่ใช้พลอยประดับ สุโขทัยเน้นการ ดัดลวด ลงยา สุรินทร์จะเน้นลวดลายเขมร ล้านนาเป็นการสลักดุนแบบชาวเขา นอกจากนี้ยังมีช่างทองถมนครศรีธรรมราช และศรีสัชนาลัย ทุกที่ล้วนมีเทคนิคการทำที่แตกต่าง แต่ถ้าเอามารวมกันแล้วดูฝีมือและอารมณ์ของงานจะสามารถรู้ว่าเป็นงานของคนไทยทุกชิ้น

  1. การบรรยายเรื่อง “ผ้าทอพื้นถิ่น”

        นายมีชัย แต้สุจริยา หรือ อาจารย์เถ่า ศิลปินดีเด่น จ.อุบลราชธานี ปี 2544 เป็นผู้คิดค้นออกแบบ  ผ้ากาบบัว ซึ่งได้รับการยกย่องให้เป็นผ้าเอกลักษณ์ประจำจังหวัด สถานที่ทำงานและบ้านพักของ อ.เถ่า ตั้งอยู่ที่ อ.วารินชำราบ จ. อุบลราชธานี ชื่อว่า “บ้านคำปุน” ปัจจุบันมีช่างทอผ้าชาวอุบลราชธานีทำงานอยู่ที่บ้านคำปุนประมาณ 30 - 40 คน

        อ.เถ่า กล่าวถึงที่มาของการเริ่มต้นอาชีพศิลปินผ้าทอว่า ตนเติบโตมากับวิถีช่างทอผ้าของครอบครัวซึ่งทอผ้ามาตั้งแต่สมัยคุณยาย ในสมัยรุ่นคุณแม่ นางคำปุน ศรีใส ได้รับเกียรติให้เป็นผู้มีผลงานดีเด่นทางวัฒนธรรมสาขาทัศนศิลป์-ถักทอ ประจำปี 2537 ในระหว่างที่ตนได้ไปศึกษาเล่าเรียนที่กรุงเทพฯ ได้สังเกตเห็นว่าผ้าที่คุณยายทอและจำหน่ายให้ลูกค้าที่กรุงเทพฯ สีค่อนข้างช้ำ จึงได้ศึกษาตลาดผ้าด้วยตนเองทำให้ได้รับทราบถึงความต้องการของคน  ยุคปัจจุบัน และนำไปปรับปรุงการทอผ้าของครอบครัว ในที่สุด อ.เถ่า จึงตัดสินใจลาออกจากการเป็นพนักงานต้อนรับ  บนเครื่องบินและสานต่อกิจการของครอบครัว

        อุปสรรคหลักของการทอผ้าในระยะแรกของ อ. เถ่า คือการสื่อสารระหว่างนักออกแบบกับช่างทอผ้า กล่าวคือ นักออกแบบต้องเข้าใจก่อนว่าเทคนิคและภูมิปัญญาในท้องถิ่นมีข้อจำกัดมากน้อยแค่ไหน อาทิ การทำผ้ามัดหมี่หากใช้ชอล์กเขียนลายไว้ พอนำไปมัดลายที่เขียนไว้จะหายไป ต้องคอยแต้ม หรือการย้อมผ้ามัดหมี่ต้องใช้ความละเอียดมากและใช้อุณภูมิน้ำร้อนที่เหมาะสม เป็นต้น

        ในส่วนของการออกแบบ อ. เถ่า มักคำนึงถึงผู้สวมใส่ผ้าก่อนเป็นสิ่งแรก เช่น ลวดลายของผ้าเหมาะกับรูปร่างของผู้ใส่หรือไม่ วัตถุประสงค์ของการนำผ้าไปใช้ เพื่อใช้ตัดชุดหรือนุ่งเป็นผ้าซิ่นป้ายสำหรับนุ่งห่มง่าย ๆ การทอผ้าซิ่นที่บ้านคำปุน หากเป็นผ้าซิ่นที่มีความประณีตมาก ๆ เช่น “ผ้าซิ่นทิวมุก” ซึ่งเป็นผ้าเอกลักษณ์ของจังหวัดซึ่งหายไปจากสังคมชาวอุบลราชธานีนับร้อยปีตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 และเพิ่งเริ่มรื้อฟื้นมาเมื่อปี 2543 ผ้าชนิดนี้ใช้เวลา 1 ปีได้ไม่ เกิน 4 ผืน ในปัจจุบันบ้านคำปุนมีช่างทอผ้าดังกล่าวได้เพียงแค่ 2 คนเท่านั้น

        อ. เถ่า ได้กล่าวในช่วงสุดท้ายของการบรรยายว่าไม่อยากให้ศิลปะการออกแบบและการทอผ้าสูญหายไปจากสังคมไทย วัยรุ่นมักคิดว่าผ้าไหมเป็นของเชย แต่แท้จริงแล้วขึ้นอยู่กับผู้ที่ออกแบบเสื้อว่าต้องการสีและเนื้อผ้าอย่างไรสำหรับการตัดเย็บ ต้องสื่อสารกับช่างทอให้ได้ว่าต้องการอะไรในเสื้อชุดนั้น นักออกแบบต้องตีโจทย์ให้แตก และหยิบสิ่งที่เชยนำมาประยุกต์เป็นสิ่งที่น่าสนใจได้ จึงจะประสบความสำเร็จได้


        หลังจากสิ้นสุดการบรรยาย คณะชมรมคู่สมรสฯ ได้มอบของขวัญที่ระลึกให้แก่ 1) คุณเกศฎา ศรีสวัสดิ์ ผู้จัดการฝ่ายบริหารนิทรรศการ 2) คุณอัมพวัน   พิชาลัย ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ 3) คุณนิพนธ์ ยอดคำปัน และ 4) คุณมีชัย แต้สุจริยา เพื่อเป็นการขอบคุณ

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ